ประวัติความเป็นมาโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้จัดตั้งขึ้นจากโครงการปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ.2507 – 2509 ของกองโรงพยาบาลโรคจิต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เร่งรัดพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะนั้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. จัดสร้างโรงพยาบาลจิตเวชใหม่เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาโรคจิต ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมไม่มีสถานที่ที่จะรองรับผู้ป่วยไว้รักษาได้เพียงพอ นอกจากนี้ เพื่อขยาบบริการตรวจรักษาโรคจิตแก่ประชาชนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น
2. เพื่อจะได้เป็นสถาบันที่สอนวิชาจิตเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา แก่นักศึกษาแพทย์ นักเรียนพยาบาล สอดคล้องกับโครงการจัดตั้งคณะ
แพทย์ศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามโครงการแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว
ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
การก่อตั้งโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้เริ่มจากเมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ใสนขณะนั้นได้นำนโยบายที่จะจัดสร้างโรงพยาบาลทางจิตเพิ่มขึ้นจากที่ได้สร้างและเปิดให้บริการแก่ประชาชนไปแล้วที่จังหวัดนนทบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาพิจารณาอีกครั้ง โดยได้กำหนดเกณฑ์ไว้กว้างๆ ว่าโรงพยาบาลจิตเวชควรมีเนื้อที่กว้างประมาณ 500 – 1,000 ไร่ และอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่มารับบริการไปมาได้โดยสะดวก โดยเฉพาะโรงพยาบาลจิตเวชที่จะสร้างขึ้นใหม่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะสร้างขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เพราะขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้บรรจุไว้ในโครงการพัฒนาแผนงานของกองโรงพยาบาลโรคจิต แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จนเมื่อปี พ.ศ. 2505 คณะกรรมการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จัดทำแผนผังเมืองขอนแก่น โดยกำหนดให้พัฒนาจังหวัดขึ้นเป็นนครขอนแก่น คณะกรรมการฯ ซึ่งรับบัญชาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้ติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับทราบนโยบายของกระทรวง ที่จะดำเนินการตั้งโรงพยาบาลจิตเวชขึ้นอีกหนึ่งแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น
การดำเนินการระดับขั้นมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ นายแพทย์ขจร อันตระการ ผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิต กรมการแพทย์ ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะไปสำรวจเลือกหาสถานที่ร่วมกับทางจังหวัด เพื่อหาข้อมูลต่างๆ มาประกอบการพิจารณา ในชั้นแรกกรรมการแพทย์ได้ขอให้ทางจังหวัดจัดสรรที่ดินตอนในของบริเวณสถานพยาบาลศรีฐาน ตรงกิโลเมตรที่ 4 ของทางหลวงสายมะลิวัลย์ เนื้อที่ประมาณ 616 ไร่ ซึ่งได้รับการพิจารณาด้วยดี แต่ทางจังหวัดขัดข้อง เพราะได้มีมติให้ใช้ที่ดินนี้ให้เป็นมหาวิทยาลัยเกษตรวิศวกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในระยะต่อมา จากผลการสำรวจหาสถานที่หลายแห่งนอกเหนือไปจากที่ตำบลสีฐานเห็นว่า สถานที่ซึ่งเหมาะสมที่สุดที่จะก่อตั้งโรงพยาบาลก็คือ ที่บริเวณเดียวกันกับโรงพยาบาลขอนแก่น และเป็นที่ดินซึ่งกองผังเมือง กรมโยธาเทศบาลลงมติกำหนดให้ที่ดินบริเวณนี้เป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาล แต่ที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินของเอกชน ซึ่งมีราคาสูง อาจขัดข้องด้วยงบประมาณ จึงขอให้จังหวัดจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นที่สงวนสำหรับเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 200 ไร่ ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 83 – 84 ทางหลวงขอนแก่น – อุดรธานี เรื่องนี้ทางจังหวัดขัดข้องแต่จะหาสถานที่ใหม่ให้ และต่อมาเรื่องนี้ต้องระงับการพิจารณาไว้ชั่วคราวเพราะขาดงบประมาณ
กองโรงพยาบาลโรคจิต กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับโรงพยาบาล ฝ่ายจิตเวชได้ตระหนักในเรื่องที่โรงพยาบาลโรคจิตมีไม่เพียงพอที่จะบริการแก่ผู้ป่วย ประกอบกับจำนวนประชากรและผู้ป่วยทางจิตเวชได้มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่หาทางดำเนินการอย่างใดอาจเกิดผลเสียหายต่อประเทศได้ในอนาคต จึงได้มุ่งมั่นดำเนินการโครงการจัดสร้างโรงพยาบาลโรคจิตในส่วนภูมิภาคต่ออีกครั้ง โดยกำหนดโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นไว้ในโครงการปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. 2507 – 2509 ของกองโรงพยาบาลโรคจิต แต่ในเวลานั้นรัฐบาลมีภาระอื่นที่ต้องเร่งรัดทำก่อน เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้นโครงการนี้จึงไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
นายแพทย์สกนธ์ โสภโณ
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2510 นายแพทย์สกนธ์ โสภโณ ผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิต นายแพทย์อุดม ลักษณวิจารณ์ แพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงบประมาณและคณะได้เดินทางมาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสถานที่ต่างๆ ร่วมกับ นายแพทย์อำนวย อุทธังกร อนามัยจังหวัดขอนแก่น พิจารณาเห็นว่าที่ดินสาธารณะของอำเภอเมืองซึ่งเป็นบริเวณป่าช้า วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมในปัจจุบัน) มีลักษณะเป็นเนินสูง เป็นป่าผสมทุ่ง มีต้นไม้และพืชต่างๆ ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ ต้นงา ชาวบ้านจึงเรียบว่า “ป่าช้าโคกเหล่างา” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างศูนย์กำจัดไข้มาลาเรีย เขต 3 และโรงเรียนมหาไถ่ศึกษาในเขตท้องที่บ้านโนนทันและบ้านบะขาม ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 47 ไร่ 2 งานเศษ เป็นสถานที่เหมาะสมมาก เพราะสถานที่นี้อยู่ในบริเวณศูนย์กลางของสถาบันการแพทย์และอนามัยสาขาต่างๆ อีกด้วย อาทิเช่น โรงพยาบาลขอนแก่น ที่ทำการอนามัยจังหวัด ศูนย์กำจัดไข้มาลาเรีย เขต 3 ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 4 เป็นต้น และยังอยู่ใกล้ชุมชนทำให้ประชาชนสามารถมารับบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงทำรายงานสรุปเสนอต่ออธิบดีกรมการแพทย์ คือ นายแพทย์ประเทือง สิงคาลวนิช ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบ ในการนี้อธิบดีกรมการแพทย์ได้เห็นชอบและสนับสนุนในหลักการของการจัดสร้างโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น และมอบหมายให้นายแพทย์ประมุข จันทวิมล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ติดต่อทางจังหวัดขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ดังกล่าว ผลครั้งนี้ทางจังหวัดและประชาชนไม่ขัดข้องยินดีให้การสนับสนุนแก่ทางราชการอย่างเต็มที่
กองโรงพยาบาลโรคจิต จึงได้ดำเนินการของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2511 เพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ตามแผนการขยายงานของโรงพยาบาลโรคจิตและได้รับงบประมาณ เป็นค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างประจำปี พ.ศ. 2511 เป็นเงิน 1,600,000 บาท ซึ่งกรมการแพทย์มอบหมายให้นายแพทย์อุดม ลักษณวิจารณ์ นายแพทย์ 5 โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นผู้แทนของกรมฯ ในการดำเนินการก่อสร้างและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดขอนแก่น
วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2511 เริ่มต้นการก่อสร้างโดยได้ก่อสร้างอาคารตึกอำนวยการและคนไข้นอก 1 หลัง บ้านพักชั้นโท 1 หลัง บ้านพักชั้นตรี 1 หลัง บ้านพักพยาบาล 1 หลัง โรงครัว 1 หลัง ทำรั้วรอบบริเวณ พร้อมประตู และทำถนนลูกรังหน้าตึก กว้าง 6 เมตร ยาว 235 เมตร เป็นเงินทั้งสิ้น 1,337,432 บาท
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2512 นายแพทย์ชลวิชช์ ชุติกร รองอธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์สกนธ์ โสภโณ ผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิต มาตรวจเยี่ยมการก่อสร้างโรงพยาบาลและให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการก่อสร้างและวางแผนเพื่อบริการแก่ประชาชน และในปีเดียวกันนี้โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม คือ ตึกคนไข้ชาย – หญิง 2 หลัง ขนาด 50 เตียง บ้านพักชั้นโท 1 หลัง บ้านพักผู้ช่วนยพยาบาล 6 ห้อง 1 หลัง บ้านพักพนักงานผู้ช่วย 1 หลัง ติดตั้งไฟฟ้า โทรศัพท์และเดินท่อน้ำประปา ในวงเงินทั้สิ้น 1,420,000 บาท
ปี พ.ศ. 2513 ดำเนินการก่อสร้างอาคาร บ้านพักชั้นเอก 1 หลัง บ้านพักพยาบาล 6 ห้อง 1 หลัง โรงอาหารชาย – หญิง 2 หลัง ทำถนนลาดยาง หอถังน้ำคอนกรีต พังพักเก็บน้ำ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,365,000 บาท
ปี พ.ศ. 2514 ดำเนินการก่อสร้างตึกเอ็กซเรย์และผ่าตัดสมอง 1 หลัง บ้านพักพนักงานผู้ช่วย 6 ห้อง 1 หลัง โรงซักฟอก 1 หลัง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าตึกอำนวยการ และรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นเงินทั้งสิ้น 2,969,060 บาท ซึ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2514 รวมค่าก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2511 – 2514 เป็นการก่อสร้างทั้งสิ้น 7,091,492 บาท ทั้งนี้ไม่ร่วมค่าครุภัณฑ์ทางการแพทขย์และอื่นๆ
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2514 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้แก่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นและนับได้ว่าเป็นวันแรกที่เปิดบริการด้วยการรักษาพยาบาล ป้องกันทั้งจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยา ให้แก่ประชาชนโดยมีนายแพทย์อุดม ลักษณวิจารณ์ เป็นผู้อำนวยการโรงยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เป็นคนแรกตั้งแต่บัดนั้นสืบมา
และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546ได้รับประทานนามจากสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชื่อโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
สำนักงานเลขานุการในพระองค์ฯ วังสระปทุม ถนนพญาไท กรุงเทพฯได้แจ้งเรื่องขอพระราชทานนามโรงพยาบาลจิตเวชใหม่ 6 แห่งและสถาบันพัฒนาเด็ก ภาคเหนือ ตามหนังสือที่ 198/303.6/2546 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2546 และอ้างถึงหนังสือที่สธ0801/1266 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ปรับบทบาท ภาระกิจ และโครงสร้างของส่วนราชการให้ประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และตอบสนองความต้องการของประชาชน ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 กรมสุขภาพจิต จึงใค่รขอพระราชทานนามใรงพยาบาลจิตเวชใหม่ 6 แห่ง และศูยน์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือใหม่ จากสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นศิริมงคลสืบไป พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทานนามโรงพยาบาลจิตเวชใหม่ 6 แห่ง และศูยน์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือใหม่ดังนี้
|
|
1.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
|
|
2.โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ หรือ โรงพยาบาลจิตเวชโคราชราชนครินทร์
|
|
3.โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์
|
|
4.โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์
|
|
5.โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์
|
|
6.โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์
|
|
7.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์
|
แหล่งข้อมูล: หนังสือ ที่ระลึกพิธีเปิดโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์และพิธีวางศิลาฤกษ์
ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
15 มกราคม 2547
|